องค์ประกอบของประชาคมที่เข้มแข็ง
และการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมที่มีพลัง

เดวิด แมททิวส์, มูลนิธิแคทเทอร์ริ่ง, เมษายน 1996.
แปลโดย ขนิฏฐา กาญจนรังษีนนท

ประชาคมและการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวม

อะไรคือการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมที่สมบูรณ์หรือประชาคมที่เข้มแข็ง เป็นหัวเรื่องของเอกสารนี้ ซึ่งจะนำมาเสนอวิธีคิดอีกรูปแบบหนึ่งเกี่ยวกับชุมชน การเปลี่ยนแปลงพาราไดม์ของโทมัส คุน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ให้ถ่องแท้ กรอบความคิดแบบเดิม วิธีการมอง หรือวิธีแก้ไขปัญหา สามารถทำให้ประเด็นสำคัญของปัญหาหลุดรอดไปได้ และทำให้เราใช้ความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างผิดวิธี โดยเฉพาะปัญหาที่ความสามารถแบบมืออาชีพ และ ทรัพยากรที่มีอยู่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถจัดการได้

กรอบความคิดเชิงวิเคราะห์ของนักวิชาการเช่น โรเบิร์ต พัทนัม วาวฟ กรีสแฮม และดั๊กกล้าส นอร์ท ทำให้เราได้พบกับแนวทางใหม่ในการทำความเข้าใจสังคม ชุมชน และส่วนรวม นักวิชาการเหล่านี้เชื้อเชิญให้สนใจกับสิ่งที่เรียกว่า "Soft side" ของระเบียบทางสังคม เช่น กระบวนการแก้ปัญหา และรูปแบบของการคบหาสมาคมกันของคนในสังคม ซึ่งทุกเรื่องล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า คนเป็นประชาชนหรือไม่ หรือ เมืองและพื้นที่หนึ่ง ๆ มีความรู้สึกของชุมชนหรือไม่ ข้อถกเถียงทั่วๆไปในเรื่องของส่วนรวมหรือชุมชน ปกติแล้วไม่ได้พูดถึงปัจจัยที่เรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานของประชาชน (Civil Infrastructure) หรือกระบวนการปรึกษาหารือในเรื่องของส่วนรวม (Public deliberation) และการเรียนรู้ของประชาชน (Civic learning ) เท่าไรนัก แต่งานวิจัยของนักวิชาการข้างต้น ได้ชี้ให้เห็นถึงวิธีก่อรูปก่อร่างของส่วนรวมและชุมชนซึ่งทำให้เราเกิดความสนใจในความสำคัญกับเรื่องของการมีส่วนร่วมในกิจการส่วนรวมและการมีส่วนร่วมในชุมชนมากยิ่งขึ้น

ชุมชนที่เคลื่อนไหวมีอะไรแตกต่างไปจากชุมชนอื่น

โรเบิร์ท พัทนัม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่า รัฐบาล และเศรษฐกิจที่มั่งคั่งของอิตาลีในภาคกลางตอนเหนือมีความสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมที่สมบูรณ์ (ชาวยุโรปเรียกว่า ประชาสังคม- Civil Society)

ตามแนวความคิดของพัทนัม ประชาสังคม ประกอบด้วยเครือข่ายของกลุ่มสมาคมของประชาชน บรรทัดฐานของการแลกเปลี่ยนประโยชน์กัน และความไว้เนื้อเชื่อใจทางสังคมที่มีผลให้เกิดการร่วมมือแบบเต็มอกเต็มใจในระดับสูง ประชาชนถูกดึงให้เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องราวส่วนรวมและมีความสัมพันธ์ต่อกันแบบเท่าเทียมกันไม่ใช่แบบเหลื่อมล้ำกัน ลักษณะเช่นนี้สังคมแต่ละแห่งมีไม่เท่ากัน พื้นที่ที่ไม่มีลักษณะเป็นชุมชนหรือเรียกว่า "Uncivil areas" ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่นหรือกลุ่มองค์กรของชุมชน และความสัมพันธ์ก็โน้มไปในทางตั้ง คือ คนจนพึ่งพาคนรวยอย่างมาก

การศึกษาทำนองเดียวกันซึ่งเป็นการศึกษาคุณภาพของการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมในสหรัฐอเมริกา พบชุมชนหลายแห่งมีคุณลักษณะเหมือนกับเมืองในภาคกลางตอนเหนือของอิตาลี ทูเพโล (Tupelo) มลรัฐมิสซิสซิปปี้ บ้านเกิดของเอลวิส เพรสลีย์ เป็นตัวอย่างที่มักมีการพูดถึงอยู่บ่อย ๆ เมืองนี้ได้ชื่อว่าเคยเป็นเมืองที่ยากจนที่สุด ตั้งอยู่ในเทศบาลที่ยากจนที่สุดของมลรัฐที่ยากจนที่สุดของประเทศ ทูเพโลเป็นชุมชนที่ไม่น่าจะมีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมที่สมบูรณ์ เนื่องจากความเป็นเมืองเล็กและตั้งอยู่ในเขตชนบท ไม่มีข้อได้เปรียบอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ไม่มีศูนย์กลางมหานคร ไม่มีงบประมาณของรัฐจำนวนมากมาย จนกระทั่งปี 1980 ก็ยังไม่มีแม้แต่ถนนไฮเวย์ขนาด 4 เลนภายใน 75 ไมล์ของเมืองนี้ แต่ในปัจจุบัน ทูเพโล มีรายได้ประชาชาติใกล้เคียงกับแอตแลนต้า และความเจริญขยายออกไปโดยรอบ ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เทศบาลได้ทุ่มเทสร้างงานอุตสาหกรรมและบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นนับเป็นพัน ๆ กิจการ

ประชาชนจำนวนมากมีความรู้สึกผูกพันกับชุมชนเท่า ๆ กับความตั้งใจที่จะแสดงความรับผิดชอบ สมาชิกชุมชนทุกคนเป็นเจ้าของโครงการสำคัญ ๆ ของเมืองร่วมกัน ขบวนการขององค์กรและเครือข่ายจำนวนมากของทูเพโล ทำให้ประชาชนมีโอกาสร่วมกันกำหนดและตรวจสอบปัญหาของพวกเขา รวมทั้งร่วมกันตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านั้น แม้ว่า จะยังไม่เป็นชุมชนอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะมูลนิธิการพัฒนาท้องถิ่นที่เปรียบเสมือนเป็นเจ้านายทางการเมืองเป็นผู้ดำเนินงานปกครองท้องถิ่นมานับศตวรรษ รวมทั้งชนชั้นนำบางคนไม่เชื่อถือการมีส่วนร่วมของประชาชนและคิดว่าการตัดสินใจควรอยู่ในมือของชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆ แต่คนจำนวนมากต่างเชื่อว่า สายสัมพันธ์ของผู้นำระดับบนจะมีมากขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนระดับล่างด้วย เพราะเมื่อเมืองเจริญขึ้น มีคนใหม่ และปัญหาใหม่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นจำต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการกับเรื่องราวของสาธารณะ เพื่อให้บังเกิดประโยชน์สุขแก่สังคมส่วนรวม ทูเพโล เป็นชุมชนที่มีชีวิตประชาชนงอกงาม ซึ่งสามารถผลิตซ้ำขึ้นมาเองได้ยุคแล้วยุคเล่า

คุณอาจถามว่าเศรษฐกิจที่เข้มแข็งทำให้การดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมของชุมชนมีความสมบูรณ์ไม่ใช่หรือ แน่นอนที่สุด ทั้งสองสิ่งนั้นเสริมซึ่งกันและกัน แต่เมื่อพัทนัมศึกษาในเมืองต่าง ๆ ของอิตาลี เขาพบว่า การดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมต่างหากที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ไม่ใช่เศรษฐกิจ กล่าวคือ ชุมชนมีฐานะเศรษฐกิจดี เพราะมีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมสมบูรณ์ ไม่ใช่เศรษฐกิจดีไปทำให้เกิดการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมที่ดี แต่เป็นเพราะชุมชนนั้นมีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมดี จึงทำให้เศรษฐกิจดี ประชาชนของทูเพโลก็เห็นด้วย เขาพูดว่า เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองขึ้นมาของเมืองทูเพโล เป็นผลมาจากการพัฒนาชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การสร้างการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวม

คำถามต่อมา คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจขึ้น ปรับปรุงโรงเรียน หรือทำให้การปกครองท้องถิ่นมีประสิทธิภาพขึ้นโดยผ่านการปรึกษาหารือเพื่อพัฒนาการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวม แม้ว่าเราจะไม่รู้จนกว่ามีบางชุมชนลองทำดู แต่ก็มีการทดลองใช้กลยุทธสร้างการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมในเมืองหนึ่งของชิคาโกมาแล้ว Chicago Community Trust มองการปรับปรุงการบริการสังคมว่าเป็นเรื่องของการพัฒนาชุมชน องค์กรนี้ส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันลงทุนในกิจการบริการสาธารณะ รวมทั้งให้ประชาชนเป็นเจ้าของ บริหารกิจการ และดำเนินการให้บริการในสิ่งที่คิดว่าสามารถทำได้ และจำเป็นต่อชุมชน ความคิดนี้ไม่ใช่เป็นการถ่ายโอนกิจการบริการสาธารณะให้ประชาชนทำ แต่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานของรัฐกับชุมชน

ประเด็นสำคัญในกลยุทธใหม่ คือ ความรู้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงสร้างและกระบวนการที่จำเป็นต่อการทำหน้าที่ที่ดีของภาคส่วนรวม ส่วนต่อไปจะได้กล่าวถึงวิธีการสร้างการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมและสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของประชาชน

ตรวจสภาพพลังของการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวม

พลังของการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวม และ ความเข้มแข็งของชุมชน สามารถตรวจสภาพได้จาก

1.โครงสร้างพื้นฐานของประชาชน : รูปแบบของประชาชนและเครือข่ายการติดต่อสื่อสาร
2.กระบวนการเรียนรู้และการตัดสินใจในเรื่องส่วนรวม
3.ลักษณะของภาวะผู้นำ
4.ชุดความคิดที่บอกถึง การกระทำของประชาชน
5.ความสัมพันธ์ของประชาชนกับสถาบัน และ
6.สิ่งที่จับต้องไม่ได้เช่น ความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนและบรรทัดฐานของความร่วมมือ
การตรวจสภาพการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวม เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการพัฒนากระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ตรวจสภาพโครงสร้างพื้นฐานของประชาชนและช่องทางสื่อสาร

เรามักได้ยินคำว่า "โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ" อยู่เสมอ ซึ่งได้แก่ ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เดวิด แมทธิวส์ เสนอว่า การพัฒนาให้คนในสังคมกลายเป็นประชาชน และให้สังคมกลายเป็นประชาคม ก็จำเป็นต้องมี "โครงสร้างพื้นฐาน" เช่นกัน เขาอธิบายว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่คนทั่ว ๆ ไปในชุมชนต้องมีโอกาสพบปะ หรือ ช่วงเวลาที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งต้องการช่องทางการติดต่อสื่อสารที่เชื่อมต่อถึงกันภายในเครือข่ายที่โยงใยไปทั่วทั้งชุมชน ชุมชนต้องมีที่ให้คนในชุมชนต่างกลุ่มต่างพวกสามารถพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ร่วมกัน อาจเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการของชุมชนหรือการสนทนาในกลุ่มเล็ก ๆ อย่างไม่เป็นทางการก็ได้ ที่ที่ประชาชนสามารถพูดคุยกันได้นี้มีส่วนสำคัญต่อการทำให้เกิดเจตนารมณ์ทางการเมือง การแก้ปัญหาของส่วนรวม และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเป็นประชาชน ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องดูก็คือ ชุมชนมีที่สำหรับผู้คนจะพูดคุย ติดต่อกันในเรื่องราวส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน จำนวนรวมของที่ดังกล่าวรวมทั้งวิธีการจัดระเบียบและติดต่อกันของประชาชนในการพบปะพูดคุยกันในเรื่องของส่วนรวม คือ โครงสร้างพื้นฐานของประชาชนในชุมชน

ลักษณะที่โดดเด่นของชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมอย่างสมบูรณ์ คือ จำนวนของความมานะพยายามที่ทุ่มเทให้กับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้างต้น ในตอนแรกกลุ่มองค์กรเฉพาะกิจเล็ก ๆ เช่นกลุ่มพัฒนาท้องถิ่น หรือ กลุ่มละแวกบ้าน เป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ และเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของส่วนรวม ระดับต่อมาก็เข้ามามีส่วนร่วมกว้างขวางและเข้มข้นขึ้นในรูปของชมรมของประชาชนที่มุ่งดำเนินกิจกรรมเพื่อส่วนรวม และองค์กรอำนวยความสะดวก (เช่น มูลนิธิชุมชน เป็นต้น) การที่กลุ่ม องค์กร ชมรม และอื่น ๆ ที่มีในชุมชน จะเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาเดียวกัน ทำให้เกิดการติดต่อที่ยึดกลุ่มองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมดไว้ด้วยกัน การคบหาสมาคมทั้งหมดทำหน้าที่เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานของประชาชน ก็คือ โครงสร้างพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารด้วยเช่นกัน

โครงสร้างพื้นฐานของประชาชนมีอยู่ในระบบสังคมไม่เป็นทางการ เช่น เทศกาล งานแข่งขันกีฬา งานเลี้ยงสังสรรค์ หรืออื่น ๆ ที่มีประชาชนมาร่วมงานกัน กิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่เป็นเพียงเหตุการณ์ทางสังคมเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ประชาชนเกิดความผูกพันกับชุมชนของเขาเน้นแฟ้นมากขึ้น พวกเขาได้สนทนาอย่างเป็นกันเองในช่วงก่อนและหลังพิธีกรรมทางศาสนา พูดคุยกันในงานแต่งงาน และงานประเพณีของชุมชน ส่งเสียงเอะอะในงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจเป็นการสนทนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวชีวิตประจำวัน ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่มีร่วมกัน และอาจรวมไปถึงเรื่องของการเมือง เรย์ โอเดนเบริก เรียกสถานที่ที่ผู้คนพูดคุยกันนี้ว่า "สถานที่ที่ดีเยี่ยม" ของชุมชน เหมือนกับเป็นบ้านที่ให้ความสุขสบายและช่วยเหลือให้พ้นทุกข์

การรวมกันในกิจกรรมทางสังคมเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวม อย่างไรก็ตาม บางชุมชนก็ต้องการสร้างทุนเพื่อส่วนรวมมากกว่าการสร้างทุนทางสังคมล้วน ๆ ซึ่งความจริงแล้วคนเราก็มีโอกาสที่จะทำความรู้จักซึ่งกันและกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว แต่การรู้จักกันแบบนั้นไม่เพียงพอสำหรับความเป็นสมาชิกชุมชนเดียวกัน เพราะเป็นเพียงการรู้จักกันธรรมดาบนพื้นฐานของสถานภาพทางสังคมหรือพื้นเพของครอบครัว คนเราต้องมีโอกาสที่จะเกี่ยวข้องกันในการสนทนาเรื่องราวที่ใหญ่กว่าเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนในภาพรวม และต้องมีการเกาะกลุ่มกัน การรวมใครเข้าด้วยกันก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่เป็นคนจัดแจงให้เกิดการรวมกลุ่ม และผู้ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ประชาชนต้องสามารถพบคนที่มีความสนใจหรือผลประโยชน์อะไรบางอย่างเหมือนหรือคล้ายตน

การดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมเองจะปรากฏให้เห็นชัดเจน เมื่อประชาชนไม่ได้จับกลุ่มกันเฉพาะในกลุ่มเพื่อน คนละแวกบ้านและเพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่ยังมีการจับกลุ่มกับคนแปลกหน้าที่อยู่อาศัยในชุมชนนั้นด้วย Alexis de Tocqueville พบว่าการประชุมที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ในรูปของสมาคมเฉพาะกิจในศตวรรษที่ 19 ยังคงมีความงอกงามได้จนถึงปัจจุบัน เช่น การจัดเวทีชาวบ้านของ Grand Rapids ซึ่งองค์กรเพื่อการศึกษาและประชาคมจำนวน 30-40 องค์กรจะมีการรวมตัวกันจัดประชุมสมาชิกชุมชนเป็นประจำทุกปีในประเด็นสำคัญ ๆ ปีละ 3 เรื่อง ติดต่อกันมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ประเด็นปัญหาที่นำมาพูดคุยกันในเวทีของ Grand Rapids ได้มาจากหนังสือ National Issue Forum การประชุมของเวทีนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงเหตุการณ์ทางสังคมแต่เป็นการปรึกษาหารือระหว่างประชาชนเพื่อเลือกทางที่จะจัดการกับประเด็นปัญหาวิกฤต โดยที่ประชาชนจะร่วมกันระบุปัญหาและเลือกทางที่เป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อต่อสู้กับการตัดสินใจเรื่องยาก ๆ ด้วยกัน ประชาชนจะมีการติดต่อกัน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อมิตรภาพ แต่เพื่อกระทำการบางอย่างร่วมกัน

การคบหาสมาคม ชั้นต่อมา ประกอบด้วย ชมรมของประชาชน สมาคม และองค์กรเอกชน ซึ่งมักมีสำนักงาน เจ้าหน้าที่ และงบประมาณ บางแห่งมีหน้าที่เหมือนองค์กรที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมองค์กรอื่น ๆ องค์กรเหล่านี้เป็นช่องทางให้คนทั้งชุมชนได้มีโอกาสพูดคุยอภิปรายกัน พัฒนาความรู้สึกของการมีความสัมพันธ์ต่อกัน สร้างเครือข่าย และทำให้มีการแบ่งปันทรัพยากรระหว่างคนในชุมชน เช่น สถาบัน Wilowe ก่อตั้งมาเพื่อให้ประชาชนและฝ่ายต่าง ๆ ได้มีการติดต่อกัน สถาบันทำหน้าที่เป็นองค์กรที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน โดยการจัดเวทีชาวบ้านด้านการพัฒนาการศึกษาและเศรษฐกิจ

ตรวจสภาพกระบวนการสำคัญ

ขณะที่องค์กรเฉพาะกิจ องค์กรสันนิบาต และศูนย์กลางเพื่อการเรียนรู้ของประชาชนเป็นโครงสร้างที่จำเป็นต่อการทำให้การดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมของชุมชนเกิดขึ้นมาได้จากความสัมพันธ์ การปะทะสังสรรค์ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหวางประชาชน โดยดำเนินการผ่านสนทนาในลักษณะการปรึกษาหารือกัน สิ่งที่สำคัญในการตรวจสอบความเข้มแข็งของการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมของชุมชน คือ การดูที่กระบวนการตัดสินใจของส่วนรวม ว่า คนทั่วไปมีส่วนร่วมจริง ๆ ในกระบวนการตัดสินใจอย่างไร และการพูดคุยกันนำมาซึ่งการตัดสินใจร่วมกันอย่างเหนียวแน่นหรือไม่

การตัดสินใจของชุมชนส่วนรวมควรเกิดขึ้นจากความตั้งใจไม่ใช่โดยการบังคับ คำถามที่ดีอย่างหนึ่งที่ควรถามในการตรวจสภาพความเป็นชุมชนคือ ประชาชนมีนิสัยนิยมการตัดสินใจร่วมกันหรือไม่ และนิสัยดังกล่าวนั้นคืออะไร ภายใต้สภาวะการณ์ที่ดีที่สุด การตัดสินใจจะเริ่มต้นแบบไม่รุนแรง เคลื่อนไปช้า ๆ และไม่ข่มขู่ชุมชน ถ้าประชาชนจะจัดการกับปัญหาของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนต้องมีโอกาสมากพอที่จะคิดเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นปัญหาและวิเคราะห์หาทางออกที่จะแก้ไขปัญหา ทั้งในสภาพที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผู้นำชุมชนต้องเข้าไปร่วมรับฟังการตัดสินใจของประชาชน แต่การสนทนากับประชาชนต้องเป็นการสื่อสารสองทาง ไม่ใช่เพียงไปบอกให้ประชาชนทราบว่าผู้นำชุมชนตัดสินใจอย่างไร หรือประชาชนบอกให้ทราบถึงข้อสรุปที่ต้องการ แต่ต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตกลงร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะดึงประชาชนเข้ามาร่วมกันคิด ตัดสินใจ และทำงานเพื่อชุมชน เพราะการตัดสินใจโดยผู้บริหารชุมชนส่วนใหญ่มักจะเป็นการบังคับประชาชน และประชาชนส่วนใหญ่ก็มักจะต่อต้าน เคลือบแคลงสงสัย และให้การสนับสนุนแก่ผู้บริหารชุมชนเพียงเล็กน้อย

ดังนั้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชน สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นก่อนให้ได้ก็คือ การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประชาชน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการแลกแปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประชาชน จึงจะทำให้เกิดการตัดสินใจร่วมกันของประชาชน การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างประชาชนทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการพูดคุยกัน และทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว อะไรเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเราในฐานะที่อยู่ร่วมกันในชุมชน อะไรคือผลประโยชน์ร่วมของทุกคน เรามีจุดมุ่งหมายที่เข้ากันได้บ้างหรือไม่ อะไรเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราควรจะทำเพื่อแก้ปัญหา เราค้นไม่พบสิ่งเหล่านี้ได้มากเท่าที่เราสร้างมันขึ้นมา มันไม่มีอยู่ก่อนที่เราจะพูดคุยกันในลักษณะของการพูดคุยที่เราใช้เพื่อสอนตัวเราเองก่อนที่เราจะแสดงออก

ผู้นำใช้เวลาเป็นเดือนที่จะศึกษาประเด็นปัญหาและทำการตัดสินใจกันเอง ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเรียนรู้เพียงน้อยนิด การทำงานโดยทั่วไปเป็นการส่งเสริมข้อเสนอของกลุ่มผู้นำที่มีการรวบรวมข้อเท็จจริงที่โน้มน้าวให้ประชาชนทั่วไปเชื่อในความถูกต้องมาสนับสนุน ผู้นำมุ่งเทพลังงานเพื่อชักชวนโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นดีด้วยกับงานที่จะทำ แต่การเรียนรู้ของประชาชนเป็นอะไรที่มากกว่าการฟังข้อเสนอและสะสมข้อเท็จจริง ประชาชนต้องเข้าใจการรับรู้ของคนอื่นที่มีต่อปัญหา ไม่มีใครมีประสบการณ์เหมือนกันทุกอย่างในเรื่องหนึ่ง ๆ และประสบการณ์ที่ต่างกันนั่นเองทำให้แต่ละคนรับรู้และมีวิธีให้น้ำหนักต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดแตกต่างกัน ถนนสายใหม่ที่จะช่วยให้เราเดินทางผ่านเมืองได้เร็วขึ้นอาจเป็นเส้นทางที่ทำให้บางคนไม่สามารถพบปะกับเพื่อนบ้านของเขา ถ้าอยากรู้ว่าชุมชนมองปัญหาเช่นการปรับปรุงการคมนาคมอย่างไร ก็ต้องค้นหาผ่านการรวบรวมการรับรู้ที่แตกต่างกันของคนในชุมชนเข้าด้วยกัน ในเรื่องบางเรื่องพวกเราไม่อาจรู้ได้จริง ๆ ว่าเราคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น จนกว่าจะได้พูดคุยกันเสียก่อน กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ มีบางอย่างที่คนเราไม่สามารถจะรู้ได้โดยลำพังคนเดียว แต่จะรู้โดยผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน เราต้องสร้างความรู้สึกร่วมถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ความรู้สึกร่วมของความหมายของเหตุการณ์ในชีวิตของพวกเรา การเรียนรู้ชนิดนี้ทำให้ประชาชนระบุประเด็นปัญหาใหม่ในลักษณะปัญหาของส่วนรวม

การเรียนรู้ของประชาชนจำเป็นต่อการสร้างการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวม มันเป็นเครื่องหมุนความเป็นชุมชนด้วยพลังของประชาชนให้กับการพัฒนาชุมชนที่ประชาชนเป็นเจ้าของ การสร้างชุมชนเป็นเรื่องการเร่งให้เกิดการเรียนรู้ลักษณะนี้เร็วขึ้น และการทำให้การเรียนรู้ของประชาชนดำเนินต่อเนื่องไปนับปีขึ้นอยู่กับกระบวนการในการพิจารณาผลที่ต้องเป็นการเรียนรู้ร่วมกันมากกว่าการใช้วิธีการวัดผลทั่ว ๆ ไปที่สอดแทรกการเรียนรู้ของประชาชน จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด สรุปได้ว่า ชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมที่มีความสมบูรณ์ คือ ชุมชนแห่งการเรียนรู้

ประเมินภาวะผู้นำใหม่

การตรวจสภาพภาวะผู้นำของชุมชน ไม่ใช่ดูเพียงผู้นำที่มองเห็นชัดเจนหรือผู้แสดงคนสำคัญของชุมชนเท่านั้น ทั้งชุมชนที่อ่อนแอ และชุมชนที่มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทั่วไป ต่างก็มีผู้นำที่มีความสามารถ ความแตกต่างระหว่างชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมอ่อนแอและสมบูรณ์ในเรื่องของผู้นำนั้นไม่ใช่อยู่ที่คุณสมบัติ หรือจำนวนของผู้นำ แต่เป็นเรื่องของตำแหน่งแห่งที่ของผู้นำและวิธีที่ผู้นำใช้ในการปะทะสังสรรค์กับคนอื่น ๆ ในชุมชน ขอให้ลืมความคิดใด ๆ ที่บอกว่าชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมที่เข้มแข็งนั้นไม่มีผู้นำที่เข้มแข็งได้เลย เพราะความเป็นจริงแล้วชุมชนดังกล่าวก็มีผู้นำที่เข้มแข็ง แต่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้เองในทันที ผู้นำจะต้องมีจิตวิญญานแห่งความกล้าหาญก่อนอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม ผู้นำอาจสร้างภาคประชาชนให้เคลื่อนไหวอย่างแข็งขันเท่ากับที่แสดงถึงความกล้าหาญที่มีอยู่ในตัว

ในที่ที่การดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมเป็นไปอย่างกระปรี้กระเปร่า ชุมชนเต็มไปด้วยผู้นำที่ทุกคนถูกคาดหวังว่าจะมีความริเริ่มบางอย่างให้กับชุมชน ผู้นำมีหน้าที่ไม่เพียงแต่เป็นเหมือนคนเฝ้าประตู แต่ยังมีหน้าที่เหมือนคนเปิดประตู ต้อนรับการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังยืนยันว่าคนอื่น ๆ เป็นเจ้าของชุมชน ผู้นำคนหนึ่งของ ทูเพโล กล่าวว่า "ถ้าคุณอยากให้ชุมชนดีกว่านี้ คุณจะต้องทำมันด้วยตัวคุณเอง"

การวิเคราะห์ผู้นำสาธารณะ นักวิจัยติดอยู่กับคำถามว่า กิจกรรมของผู้นำดังกล่าวแตกต่างจากผู้นำในชุมชนที่มีชิวิตสาธารณะอ่อนแออย่างไร ที่นั่น ผู้นำมีสถานภาพในการปกป้องและรักษาอำนาจในการควบคุมบุคคลและการกระทำในสังคมของประชาชนอย่างเข้มงวด แต่ในชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมเบิกบาน ผู้นำยุ่งอยู่กับการกำกับทรัพยากรเพื่อการเปลี่ยนแปลง เขาเป็นสถาปนิกในการออกแบบโครงสร้างประชาคม เป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมประชาชนกับสถาบันและส่วนต่าง ๆ ของชุมชนเข้าด้วยกัน เขามองไปข้างหน้าด้วยกรอบที่กว้างและยาวไกล ซึ่งทำให้เขาไม่ต้องไปเร่งรีบที่จะทำอะไรเพื่อแก้วิกฤตเรื่องแล้วเรื่องเล่า อาจกล่าวได้ว่าเขาครอบคลุมไปทั่ว เพราะเขาคิดถึงเรื่องของชุมชนในภาพรวมและให้ความสำคัญกับภาพที่ใหญ่ขึ้น เปิดกว้างที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว และมุ่งไปข้างหน้าอย่างแน่วแน่โดยไม่ดื้อดึง

ด้วยเหตุที่สร้างให้เกิดผู้นำจำนวนมากในชุมชน ผู้นำชุมชนจึงไม่มีความแตกต่างจากประชาชน ไม่มีชนชั้นผู้นำแยกต่างหากจากผู้อื่น ผู้นำชุมชนสามารถกลมกลืนเข้ากับชุมชนได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสามารถรับความความคิดจากประชาชนได้มากในการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องมีการประชุมอย่างเป็นทางการ เขาสามารถหาข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ พูดคุยกับประชาชนโดยไม่ต้องมีการจดบันทึก

ผู้นำชุมชนจำนวนหนึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในกิจการธุรกิจและสถาบันชุมชนอื่น ๆ ชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมสมบูรณ์ บุคคลในตำแหน่งเหล่านี้จะมองเวลาที่ใช้ในการสร้างชุมชนว่าเป็นผลได้โดยตรงต่อชีวิตของพวกเรา สถาบันสำคัญ ๆ ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้น ช่วยให้มีการกำกับทรัพยากรเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเงินเท่านั้น) และสนับสนุนการกระทำหน้าที่พลเมืองของคนอื่น ๆ สิ่งที่สำคัญก็คือ พวกเราจะระมัดระวังที่จะไม่ทำให้กลายเป็นกลุ่มพลังมวลชน การระวังตัวเช่นนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ที่ต้องการสนับสนุนการสร้างชุมชน พวกเขาต้องปฏิบัติในทางที่กระตุ้นให้เกิดการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างหลักประกันว่าผู้กระตุ้นนั้นจะไม่กลายเป็นผู้นำ

ตรวจสอบชุดความคิด

ปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดประการหนึ่งของการมีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมที่สมบูรณ์ ก็คือ ภาพที่คนเรามีอยู่ในความคิดเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาและวิธีดำเนินงาน ซึ่งเรียกว่า ชุดความคิดหรือกระบวนทัศน์ ในชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมสมบูรณ์ ชุดความคิดค่อนข้างแตกต่างจากมุมมองที่ให้ภาพการเมืองแบบทั่ว ๆ ไป มันเป็นรูปแบบการเมืองที่มีลักษณะของส่วนรวม ซึ่งไม่เหมือนแนวคิดการแสดงออกของพลเมืองโดยทั่วไปที่มีต่อวัตถุประสงค์ วิธีการ และการจัดระเบียบองค์การ ประชาชนจะทำงานเพื่อปรับกรุงกระบวนการที่เขาใช้หนักเท่า ๆ กับที่ทำเพื่อให้ได้ผลตามต้องการ เขาไม่ทิ้งกระบวนการออกจากผลผลิต ขอบเขตโครงการสาธารณะจึงกว้าง สะท้อนความตระหนักที่มีต่อชุมชนในภาพรวม สิ่งที่น่าประทับใจก็คือความพยายามไม่ใช่โครงการของกลุ่มองค์กรหนึ่งองค์กรใดแบบปรกติทั่วไป หรือเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเดียว วัตถุประสงค์ที่อยู่เบื้องหลังดูเหมือนจะเป็นโครงการที่ต้องการจะเชื่อมประชาชนและประเด็นต่าง ๆ ของชุมชนให้น่าสนใจอย่างลึกซื้งกว้างขวาง

กรีสแฮม เรียกความคิดนี้ว่า หลักการนำทาง ในทูเพโล มีแนวความคิดว่า "ไม่มีวันที่จะส่งงานคืนให้กับหน่วยงานโดยประชาชนไม่เข้ามีส่วนร่วม" การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นก่อนอย่างอื่นสำหรับการกระทำของส่วนรวม นี่เป็นกฏเหล็ก แนวทางบางเรื่องเป็นเรื่องสามัญสำนึก เช่น "สร้างทีมและทำงานเป็นทีม" บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในใจ เช่น "มองทุกคนเป็นทรัพยากร"

จอห์น แมคไนท์ อธิบายถึงความสำคัญของหลักการที่ว่า "ให้มองประชาชนเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากกว่าเพียงความจำเป็นที่ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานชุมชนเท่านั้น" ว่า ชุมชนคือผลรวมของศักยภาพที่มีอยู่ในตัวบุคคลของประชาชนในชุมชน แนวความคิดนี้มีพลังมากในการสร้างความเข้มแข็งให้กับการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวม เมื่อคนในชุมชนสนใจที่ศักยภาพของตน คนในชุมชนก็จะตระหนักมากขึ้นว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้กับชุมชน

ใครก็ตามที่ถูกทำให้จนลงเพราะสาเหตุทางเศรษฐกิจ หรือคนที่มองว่าคนอื่นป่วย ไม่มีที่อยู่อาศัยและประสบปัญหาที่เขาไม่ได้เป็นคนก่อขึ้น ต่างก็รู้ว่าคนแต่ละคนมีความต้องการ เครื่องมือมาตรฐานอย่างหนึ่งในระบบการเมืองแบบดั้งเดิมจึงถูกกำหนดขึ้นเรียกว่า การประเมินความต้องการ การเน้นที่ความต้องการส่งผลข้างเคียงในทางที่ไม่ดีต่อการเมือง ประชาชนสูญเสียความตระหนักในศักยภาพของตนเอง แมคไนท์ได้คิดเครื่องมือขึ้นมาอย่างหนึ่งเรียกว่า บัญชีรายการศักยภาพ ซึ่งช่วยเปิดให้เห็นพรสวรรค์ของบุคคลและทรัพยากรในชุมชนที่ถูกใช้ประโยชน์ในระดับต่ำกว่าที่ควรเป็น แมคไนท์กล่าวว่า คนเราทุกคนเหมือนแก้วที่ว่างครึ่งหนึ่งหรือเต็มอยู่ครึ่งเดียว การติดป้ายความทุกข์ยากหรือความต้องการให้ประชาชนทำให้เราพลาดสิ่งที่สำคัญที่สุดของประชาชน คือโอกาสในการแสดงออกหรือแลกเปลี่ยนพรสวรรค์ ทักษะ ศักยภาพ และความสามารถระหว่างประชาชน ชุมชนจะแข็งแรงขึ้นได้มีอยู่ทางเดียวคือการรวมศักยภาพของประชาชนทุกคนเข้าด้วยกัน

ในชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมสมบูรณ์คนมีชุดความคิดเกี่ยวกับอำนาจแตกต่างไปจากชุมชนทั่วไป ดังนั้นในการตรวจสภาพชุมชนจึงควรดูว่าอำนาจถูกนิยามอย่างไร อำนาจโดยทั่วไปหมายถึงการควบคุมทรัพยากรที่หายากและการได้รับการรับรองทางกฏหมายให้กระทำในเรื่องต่าง ๆ อำนาจชนิดนี้ถูกมองว่ามีอยู่จำนวนหนึ่ง เมื่อคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจ อีกกลุ่มหนึ่งก็ไม่มีอำนาจ ดังนั้น คนที่ไม่มีอำนาจจะมีอำนาจขึ้นมาได้ก็โดยความมอบให้จากคนที่ครอบครองอำนาจอยู่เท่านั้น

ในชุมชนที่การดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมมีความสมบูรณ์ ประชาชนจะมองอำนาจต่างออกไป คนที่แม้จะไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการก็มีอิทธิพลและมีผลต่อชุมชนเช่นกัน กลุ่มประชาชนคิดว่าอำนาจเป็นทรัพยากรที่ขยายตัวได้ สามารถสร้างขึ้นมาได้ตลอดเวลา จากมุมมองนี้ อำนาจที่แท้จริง ก็คือ อำนาจที่ประชาชนสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง มันเกิดจากศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของประชาชนและถูกขยายออกมาผ่านการมีความสัมพันธ์และความสามารถของพวกเขาที่จะรวมมันเข้าด้วยกัน มันเป็นอำนาจของส่วนรวม อำนาจที่คนอื่นหยิบยื่นให้ไม่ใช่อำนาจที่แท้จริง

การมองอำนาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในบุคคลทุกคน นำไปสู่ความสำนึกที่ว่า "ประชาชนในท้องถิ่นต้องแก้ปัญหาของท้องถิ่น" ประชาชนจะพูดว่า "เราคือทางออก เราคือคนที่เรารอคอย" การแสดงออกเช่นนี้เป็นการยืนยันถึงความรับผิดชอบที่ประชาชนเป็นเจ้าของปัญหา

จากการศึกษากรณีตัวอย่างของชุมชนหลายแห่งพบข้อสรุปตรงกันว่า ความตั้งใจที่จะเรียกร้องความรับผิดชอบมีความสำคัญต่อการสร้างอำนาจของส่วนรวม หนทางเดียวที่จะทำให้ชุมชนน่าอยู่สำหรับสมาชิกชุมชน ก็คือ สมาชิกชุมชนต้องเข้าใจและยอมรับในหน้าที่รับผิดชอบของตนที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน

ความปรารถนาที่จะรับผิดชอบและความสำนึกที่ว่า ประชาชนในท้องถิ่นต้องแก้ปัญหาของท้องถิ่น มิได้หมายความว่า ชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมสมบูรณ์ คิดถึงแต่เรื่องของชุมชนตนเองเท่านั้น ในฐานะที่เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ชุมชนจะพยายามเรียนรู้อยู่เสมอว่าชุมชนอื่นกำลังทำอะไรอยู่ ทูเพโลมีการจัดทัศนศึกษาไปยังชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเชิญบุคคลภายนอกชุมชนมาให้คำแนะนำและคำปรึกษาบ่อยครั้ง แต่ทูเพโลก็ไม่ได้ลอกเลียนหรือทำตามแบบอย่างของชุมชนอื่น สิ่งที่ได้รับจากการเรียนรู้ คนในชุมชนได้นำมาปรับและสร้างรูปแบบที่เหมาะสมขึ้นมาใช้กับชุมชนตนเอง

ตรวจความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบัน

นิสัยเรียกร้องความรับผิดชอบมีผลต่อวิธีการที่ประชาชนในชุมชนติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันหลักอื่น เช่น โรงเรียน เป็นต้น ชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมแข็งแกร่ง ประชาชนจะพึ่งพาสถาบันภาครัฐน้อยลง ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็เป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการทำงานและการให้บริการ ตรงข้ามกับชุมชนที่มีการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมอ่อนแอ ประชาชนต้องพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐสูง ซึ่งพบว่าหน่วยงานภาครัฐกลับทำงานและให้บริการไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพ

กรณีของโรงเรียนเป็นตัวอย่าง ในทูเพโล ระบบโรงเรียนเป็นความสำเร็จอย่างสูงสุดของความร่วมมือของประชาชน กองทุนของชุมชนจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนชุมชนมากกว่าที่มหาวิทยาลัยของรัฐได้รับจากรัฐบาลเสียอีก การสนับสนุนโรงเรียนชุมชนเป็นประเพณีของชุมชนที่เข้มแข็งมาก

ประชาชนของทูเพโลมีความสบายใจที่จะติดต่อเกี่ยวข้องกับโรงเรียนของชุมชน เขาพูดคุยกันเกี่ยวกับโรงเรียนราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวม มีช่องทางในการติดต่อกับโรงเรียนหลายช่องทาง ผ่านหน่วยงานธุรกิจ กลุ่มประชาชน โบสถ์ และองค์กรชุมชนซึ่งมีสายสัมพันธ์กับประชาชนอยู่แล้ว และประชาชนก็หวังว่าครูจะเข้ามาร่วมกับกิจกรรมของชุมชนเวลาที่ประชาชนต้องตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญ ๆ นอกจากนี้ประชาชนยังมองโรงเรียนว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมคนในชุมชนเข้าด้วยกัน โรงเรียนไม่เพียงได้ประโยชน์จากการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมของชุมชน และยังช่วยรักษาการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมของชุมชนเอาไว้ด้วย

โรงเรียนในชุมชนที่อ่อนแอจะมีความแตกต่างออกไป ประชาชนพูดคุยกับเกี่ยวกับโรงเรียนเหมือนเป็นสิ่งหนึ่งที่แยกออกไปจากชุมชน เขาแทบมองไม่เห็นการติดต่อระหว่างโรงเรียนกับสถาบันอื่นเลย ประชาชนมองโรงเรียนว่า เป็นสถานที่สำหรับดูแลลูกของเขามากกว่าที่จะคิดว่า โรงเรียนเป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาเด็กทุก ๆ คนในชุมชน เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่ประชาชนจะผนึกกำลังกันสนับสนุนโรงเรียน ประชาชนกลับมองโรงเรียนเป็นสนามรบที่เข้ามาแย่งชิงผลประโยชน์กันเพื่อให้โรงเรียนดูแลลูกของตนให้ดีกว่าลูกของคนอื่น ในบรรยากาศเช่นนี้ โรงเรียนของชุมชนจึงไม่มีหนทางที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเท่าที่จำเป็นต่อการทำหน้าที่ของโรงเรียนในการให้การศึกษาเด็กอย่างสมบูรณ์

มองหาแหล่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและบรรทัดฐานความร่วมมือ

การศึกษาที่ทูเพโล นักวิจัยรู้สึกทึ่งในความรู้สึกอันมีพลังของความเป็นชุมชน การมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน และบรรทัดฐานในการดำเนินกิจกรรมของประชาชน บางคนสรุปว่า สิ่งที่ต้องมาก่อนสำหรับการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมที่สมบูรณ์ก็คือ ผลงานที่เกิดจากการทำงานเพื่อส่วนรวมของประชาชน หรืออีกนัยหนึ่ง ชุมชนไม่ได้เริ่มต้นพร้อมกับบรรทัดฐานของความร่วมมือ แต่ชุมชนสร้างบรรทัดฐานดังกล่าวขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยผ่านช่วงเวลายาวนานในขณะที่ประชาชนมีการทำงานร่วมกัน

แฮรี่ บอยท์ แห่งสถาบันอัมฟรีย์ (Humphrey Institute) พบว่า ประชาชนต้องทำอะไรด้วยกันก่อนที่จะสามารถสร้างบรรทัดฐานที่ทำให้การร่วมมือกันกลายเป็นนิสัยของชุมชน เขากล่าวว่า เมื่อกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องความถูกต้องทางศีลธรรมสามารถทำงานร่วมกันได้ ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนแน่นแฟ้นขึ้น และลดการแตกออกเป็นขั้วของความรู้สึกถูกผิดทางศิลธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการสร้างบรรทัดฐานของความร่วมมือ การศึกษาของเคทเทอริ่งเองก็พบว่า การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำให้เกิดความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและโน้มน้าวให้ประชาชนเข้ามาทำงานร่วมกันในอนาคต

นอกจากนี้ ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันยังกระจายเรื่องราวที่เป็นความทรงจำร่วมของประชาชนในชุมชนว่าได้เคยแก้ไขปัญหามาได้อย่างไร เมื่อเกิดปัญหาครั้งใหม่ ประชาชนจะคิดว่าถ้าร่วมกันแก้ไข ปัญหาก็จะหมดไปเหมือนที่เคยผ่านมา ความรู้สึกเช่นนี้ทำให้ประชาชนหลุดพ้นไปจากความกังวลและเครียดในเรื่องเฉพาะหน้าของตัวเอง แล้วหันมาช่วยกันคิดที่จะช่วยกันและกันโดยการทำงานร่วมกัน

ตรงกันข้าม ชุมชนที่อ่อนแอ มักมีบรรทัดฐานของการทำลาย ประชาชนชอบชี้นิ้วและประนามคนอื่น หรือพูดว่า "เราทำอย่างนั้นไม่ได้ที่นี่" บรรทัดฐานนี้จำกัดความสามารถของชุมชนในการเผชิญกับปัญหา ประชาชนอาจตระหนักว่าบางอย่างไม่ถูกต้อง แต่ก็ขาดความมั่นใจที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์

การเก็บเกี่ยวบรรทัดฐานและความรู้สึกของชุมชนจากเรื่องราวที่ประชาชนเล่าให้ฟังเป็นส่วนสำคัญของการตรวจสภาพ และจะมีความสำคัญมากขึ้นถ้าได้มองหาโครงการของงานที่ประชาชนทำร่วมกัน โดยเฉพาะงานที่ก่อให้เกิดนิสัยแห่งการสร้างสรรค์และความรู้สึกที่ถูกสร้างขึ้นมาอีกครั้งในเรื่องการร่วมมือ ไม่มีบรรทัดฐานใดของชุมชนที่แพร่หลายจนทุก ๆ คนบันทึกมันไว้ และไม่ใช่คนเราจะมีความรู้สึกผูกพันกับชุมชนอย่างมากเท่ากันทุกคน แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินกว่าจะศึกษา

การท้าทาย

สิ่งที่ท้าทายคือการหาวิธีฟื้นฟูการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมในชุมชนที่อ่อนแอ ชุมชนต่าง ๆ มีความเหมือนกัน แต่การผนึกกำลังของประชาชนในชุมชน แต่ละชุมชนต้องหาวิธีการของตนเอง ขณะที่ไม่ควรคิดว่าวิธีการต้องสวยงาม ต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอน และเปนระบบ แต่ก็ไม่มีใครคิดเช่นกันว่ามันเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน ชุมชนควรเริ่มออกเดินทางที่จะสร้างความเป็นชุมชนหลังจากวาดภาพรวมของชุมชนที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ เลือกตัวแปรและกำหนดสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ชุมชนต้องเก็บบันทึกอย่างระมัดระวังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางของการเดินทาง เพื่อที่จะได้สามารถเรียนรู้จากการทดลอง ยิ่งกว่านั้น ชุมชนควรจดจำบทเรียนที่สำคัญที่สุดจากชุมชนเช่นทูเพโล ว่า ประชาชนต้องรับหรือให้สัญญาที่จะฝึกหัดการเมืองในรูปแบบใหม่ที่เป็นวิธีการใช้ชีวิตร่วมกันไม่ใช่ในรูปแบบที่เคยเป็นอยู่ รูปแบบใหม่ของการเมืองนี้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นการให้ความสำคัญสูงสุดกับการตัดสินใจของประชาชนทั่วไป การปรึกษาหารือของประชาชนทั่วไป และการดำเนินงานของประชาชนทั่วไป ไม่ใช่เทคนิควิธีการ แต่เป็นวิถีชีวิต

สร้างชุมชนอย่างไร : เริ่มที่ไหน

แม้ว่าเราต้องการชุมชนเพื่อทำการทดลองสร้างความเข้มแข็งของการดำเนินชีวิตเพื่อส่วนรวมเพื่อให้มีประสบการณ์ที่ขัดเจนแน่นอน แต่เราก็สามารถใช้สิ่งที่เราพบเห็นในชุมชนเช่นทูเพโลมาเป็นแนวทางในการเริ่มต้นได้

สิ่งแรกที่เห็นก็คือ การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ดังนั้น วิธีที่ดีในการเริ่มก็คือการคิดถึงหนทางที่จะเร่งให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชนได้เร็วขึ้น การเรียนรู้ของประชาชนดูเหมือนจะเกิดขึ้นรอบ ๆ กิจกรรมของชุมชนบางอย่าง นั่นคือ การกำหนดปัญหา และการวางกรอบประเด็นเพื่อการพิจารณาของประชาชนในชุมชน การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายหรือขั้นตอนการดำเนินงาน การค้นหาวิธีการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ และการติดตามและประเมินความสำเร็จของการทำงาน

อีกประเด็นที่เห็นก็คือ ความสัมพันธ์หรือวิธีการทำงานที่เป็นงานส่วนรวม ดังนั้นจึงควรหากิจกรรมที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกลายเป็นความสัมพันธ์ของส่วนรวม ซึ่งคนแปลกหน้าก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย สิงที่น่าสนใจ คือ กิจกรรมหลายอย่างที่ทำให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ได้นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ของส่วนรวมได้ด้วย

ความสัมพันธ์ของประชาชนทั่วไปก่อตัวขึ้นในวิถีทางที่พิเศษมาก มันเกิดขึ้นเมื่อประชาชนมองเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเขามันเกี่ยวพันกัน ความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในชะตากรรมอันเดียวกันขึ้น การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และการมีวัตถุประสงค์ตรงกัน จะก่อตัวขึ้น ประชาชนจะตื่นตัวแสดงความปรารถนาเข้าร่วมรับผิดชอบและดำเนินงานร่วมกัน

การกำหนดปัญหาและกรอบประเด็นในรูปของส่วนรวม

แม้ว่าความรู้สึกพึ่งพาอาศัยซึ่งกับและกับและวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้และค่อนข้างเป็นอุดมคติ แต่จากการวิจัยของเคทเทอริ่งเสนอว่า ความรู้สึกอันทรงพลังเกี่ยวกับชุมชนและความสัมพันธ์ของส่วนรวมเกิดขึ้นจากกิจกรรมที่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งเริ่มด้วยการกำหนดปัญหาและตีกรอบประเด็นปัญหา การกำหนดปัญหาเป็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้ของประชาชน

ใครกำหนดปัญหาในชุมชนและปัญหาที่ได้รับการเลือกเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าผู้เชี่ยวชาญกำหนดปัญหาในลักษณะวิชาการ คนจำนวนมากที่ควรเป็นผู้นำก็จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประชาชนมักมองประเด็นต่าง ๆ แตกต่างไปจากผู้เชี่ยวชาญหรือสถาบัน เขาเผชิญปัญหาที่พูดกันด้วยภาษาของประชาชนทั่วไป ซึ่งมีฐานมาจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันและสิ่งที่ประชาชนเห็นว่าเป็นประโยชน์มากที่สุด ตัวอย่างเช่น คนอเมริกันเห็นการหยุดการเสพยาว่าเป็นเรื่องของครอบครัวหรือชุมชนมากกว่าจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้กฏหมายบังคับหรือการป้องกันยาเสพติดไม่ให้เข้ามาในประเทศ การกำหนดปัญหาในลักษณะของกฏหมายปิดประตูไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องสำหรับคนที่เห็นการเสพยาทุกวันในละแวกบ้านและคิดถึงเรื่องนี้ว่าเป็นปัญหาของครอบครัวที่ล้มเหลว ชุมชนที่อ่อนแอ และการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ

การกำหนดปัญหาในมุมมองของประชาชน ทำให้ประชาชนมองตัวเองว่าสามารถสะท้อนอะไรบางอย่างให้กับชุมชน ไม่ใช่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่ยังเป็นประโยชน์ของคนอื่นด้วย เป็นการสร้างความรู้สึกของการร่วมชะตากรรมเดียวกันในหมู่ประชาชนในชุมชน เป็นขั้นแรกที่ประชาชนเข้ามาแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในฐานะคนร่วมในชุมชนเดียวกัน

การกำหนดปัญหาในมุมมองของประชาชนสามารถส่งเสริมให้เกิดการปะทะสังสรรค์อันเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน การระบุและพูดถึงปัญหาก่อให้เกิดประสบการณ์ของครอบครัวและชุมชนในการสร้างความพร้อมให้กับคนในชุมชนที่จะคิดถึงสิ่งที่เขาสามารถนำเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคาม ปัญหาจะถูกตีกรอบอีกครั้งให้ชัดเจนเมื่อมีการกำหนดทางเลือกในการดำเนินงาน ประเด็นของสิ่งที่จะทำเกี่ยวกับการเสพยาสามารถถูกกำหนดกรอบด้วยการใช้วิธีการกระตุ้นเยาวชน "แค่พูดว่า ไม่" หรือสร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยโครงการจับตามองยาเสพติดในละแวกบ้าน หรือจัดการที่รากเหง้าของปัญหา เช่นการไม่มีงานทำ เป็นต้น การกำหนดกรอบด้วยวิธีหาทางเลือกทั้งหมดออกมานี้ ทำให้ประชาชนสามารถจัดการกับปัญหาที่มีมากมายก่ายกองลงได้

การตัดสินใจของประชาชนผ่านการปรึกษาหารือกัน

การกำหนดปัญหาและวางกรอบประเด็นตามแบบของประชาชนทำให้เกิดขั้นตอนที่จะก้าวต่อไปในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ก็คือ การตัดสินใจร่วมกันเพื่อการทำงานร่วมกัน ชุมชนไม่สามารถผนึกกำลังได้ ถ้าไม่มีการตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และวิธีการดำเนินงาน การตัดสินใจในเรื่องที่ยาก จำเป็นต้องใช้การพูดจาปรึกษาหารือกัน ซึ่งแตกต่างจากการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น การเก็บข้อมูล หรือการอภิปรายถกเถียงกัน การปรึกษาหารือมีคำถามพื้น ๆ หลายข้อ เช่น อะไรเป็นประโยชน์สำหรับเราเมื่อเราคิดถึงปัญหาอะไรสักอย่างหนึ่ง อะไรเป็นสิ่งที่ต้องสูญเสียและผลที่ตามมาของทางเลือกต่าง ๆ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหานั้น อะไรเป็นทางเลือกที่ยากลำบากที่ทำให้ยากแก่การตัดสินใจอย่างยิ่ง คำถามสุดท้ายอาจมีหลายรูปแบบ เช่น เราต้องการให้นโยบายนี้นำเราไปยังที่ใด อะไรเป็นสิ่งที่เราตั้งใจจะทำเพื่อแก้ปัญหา อะไรเป็นสิ่งที่เราตั้งใจจะตัดทิ้ง ในการตอบคำถามเหล่านี้ คนเราจะเคลื่อนเข้าสู่การตัดสินใจไม่ใช่เพียงแลกเปลี่ยนความคิดกันเท่านั้น พวกเขาต้องหลุดจากความขัดแย้งที่มีต่อการมองเรื่องที่เป็นประโยชน์อันนำไปสู่การกระทำ ที่ประชุมไม่ต้องมีข้อตกลงที่เป็นเอกฉันท์ แต่พวกเขาต้องมองหาทางที่ใช้ได้ทั่วไป หรือการทำหลาย ๆ อย่างที่พอจะยอมรับได้

เพื่อปรึกษาหารือกัน ประชาชนต้องพูดกันแบบประชาชนกับประชาชนและเผชิญหน้ามากกว่าการฟังสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญนำเสนอ พวกเขาต้องตรวจสอบความหลากหลายของมุมมองและชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของทุกทางเลือก นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "การปรึกษาหารือ" - การชั่งน้ำหนักทางเลือกอย่างระมัดระวังเทียบกับสิ่งที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง

การปรึกษาหารือเป็นกระบวนการของการตัดสินใจที่ผูกอยู่กับการกระทำ การปรึกษาหารืออาจทำให้เกิดความรู้สึกของการมีทิศทางและเป้าหมายร่วมอย่างชัดเจนหรือเกี่ยวข้องกันกระจายไปทั่วโดยไม่จำเป็นต้องบังเกิดผลเป็นข้อตกลง ผลของการปรึกษาหารือนี้สร้างความรู้สึกถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งก่อให้เกิดพลังของประชาชนที่จะนำการตัดสินใจไปดำเนินการ สิ่งที่แคทเทอริ่งพบจากการประชุมวาระแห่งชาติที่จัดโดยองค์กรประชาคมและการศึกษาทั่วประเทศ คือการพูดจาปรึกษาหารือกันก่อให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ นั้นได้อย่างไร ประการแรกคือ การเปลี่ยนแปลงประชาชนด้วยการเปลี่ยนทัศนคติ แม้ว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะไม่มีความคิดเห็นใด ๆ ของตนเองเกี่ยวกับประเด็นที่หารือกัน แต่การหารือกันก็ส่งผลให้เขาเปลี่ยนทัศนะที่มีต่อความคิดเห็นของผู้อื่นไปได้เช่นกัน การหารือทำให้เรารู้สึกเหมือนเข้าไปร่วมอยู่ในประสบการณ์ของคนอื่น การมองเรื่องที่กำลังพูดกันจากมุมมองภายในของผู้มีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ทำให้ทัศนะของเราเปลี่ยนไป เราจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และเริ่มมองเห็นช่องทางที่จะทำอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

การหารือกันส่งผลต่อวิธีที่คนเรามองประเด็นปัญหานั้น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งบ่อยครั้งที่เริ่มต้นด้วยความพยายามที่จะดึงกิจการอุตสาหกรรมให้มาดำเนินการในพื้นที่บางแห่ง โดยมุ่งให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ แต่ต่อมา หลังจากมีการหารือกัน บางแห่งก็เกิดมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแตกต่างออกไป กลายเป็นว่าสิ่งที่ชุมชนต้องการจากการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่เพียงให้เกิดการจ้างงานเท่านั้น แต่ยังต้องการสร้างความรุ่งเรืองให้กับชุมชนด้วย ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารท้องถิ่นควรจะทำไม่ใช่เพียงการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมไปอย่างสะเปะสะปะ หากต้องพัฒนายุทธศาสตร์ที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจระดับโลกด้วย

การเพิ่มขึ้นของการรับรู้สำคัญสองด้านคือ การรับรู้ในแนวคิดหรือทัศนะของกันและกัน และการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหา ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกถึงสิ่งที่เป็นไปได้อันเป็นพลังขับไปสู่การเปลี่ยนแปลง ประชาชนไม่ต้องการการรับประกันว่าสิ่งที่ทำจะประสบความสำเร็จ แต่พวกเขาจะร่วมกันดำเนินการเมื่อเขาเข้าใจชัดเจนว่าปัญหาส่งผลกระทบต่อสิ่งที่เขาห่วงใย และมองเห็นว่าเขาสามารถ ทำอะไรบางอย่างได้ในการจัดการกับปัญหานั้น อีกทั้งพบว่ามีคนอื่นจะร่วมทำงานกับเขาด้วย นี่คือวิธีการที่เจตนารมณ์ทางการเมืองแพร่กระจายออกไป

ความยุ่งยากในการตัดสินใจในการหาวิธีการทำงานร่วมกันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เรามักจะเริ่มด้วยการตำหนิติเตียนว่าคนอื่นทำยุ่ง ก่อนที่จะผ่านพ้นอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการต้องเผชิญกับการลงทุนและผลที่คาดว่าจะได้รับอันไม่น่าพอใจ การทำงานผ่านไปแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา การสนทนาที่เริ่มด้วยการแลกเปลี่ยนทัศนะกันฉันท์มิตรก่อนจะเริ่มมีการหารืออย่างดุเดือดจริงจังจะช่วยได้ โดยทั่วไป เราจะเริ่มด้วยการพูดคุยกันเกี่ยวกับความรู้สึกส่วนตัวและพยายามที่จะดูว่ามีใครรู้สึกเหมือนเราบ้าง หรือมีใครเข้าใจความรู้สึกของเราบ้าง เช่น การแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างประเด็นปัญหาของส่วนรวมเริ่มจากการพูดคุยกับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับปัญหากระจุกกระจิกเกี่ยวกับยาเสพติดที่เขาพบรอบตัว การสนทนาอย่างไม่เป็นทางการมีการขยายตัวในวงกว้างขึ้น พัฒนาเป็นการหารือกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และผลักดันจนกลายเป็นวาระการประชุมของชุมชน การหารือกันอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีกว่าจะตกลงกันได้ว่าคนในชุมชนจะทำอะไรเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในชุมชน

การกระทำเพื่อส่วนรวม :

ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย ความเป็นส่วนรวมและความสัมพันธ์ของส่วนรวมถูกสร้างขึ้นผ่านการทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวมของคนในชุมชน การกระทำเพื่อส่วนรวมไม่เหมือนกันการกระทำของกลุ่มผลประโยชน์ การกระทำเพื่อส่วนรวมกินความกว้างและรวมพลังของคนในชุมชนมากกว่ากลุ่มผลประโยชน์ และการกระทำเพื่อส่วนรวมก็ไม่เหมือนการกระทำของหน่วยงานภาครัฐหรือสถาบัน ซึ่งมีรูปแบบที่เป็นเอกภาพ ต่อเนื่องตรงไปตรงมา และประสานงานภายใต้หน่วยงานบริหาร

การกระทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่การกระทำที่เริ่มจากจุดหนึ่งไปสิ้นสุดที่อีกจุดหนึ่ง แต่เป็นการกระทำที่มีชีวิตชีวา มีการรวมพลังกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนที่เกี่ยวข้องมีความหลากหลายและกว้างขวางมากมาย เช่น การทำงานร่วมกันของคนละแวกบ้านเพื่อฟื้นฟูสวนสาธารณะ เป็นต้น การปะทะสังสรรค์ระหว่างผู้คนที่ทำงานร่วมกันเป็นไปแบบเสมอภาค ไม่มีใครสั่งใคร ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร การกระทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่ผลงานของแผนการบริหาร และไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองหรือสิ่งมหัศจรรย์แต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการหารือกัน ซึ่งถ้าการหารือกันเป็นไปด้วยดี ก็จะเกิดความรู้สึกของการอำนวยการ เป็นการตกลงร่วมกันว่าจะทำอะไรอย่างไรเมื่อไร เป็นการแบ่งงานกันโดยปริยาย

การกระทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่สิ่งที่เข้ามาแทนที่การวางแผนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่มีคุณภาพบางอยางที่การกระทำรูปแบบอื่นไม่มี นักเศรษฐศาสตร์อาจกล่าวว่า ต้นทุนการจัดการของการกระทำเพื่อส่วนรวมต่ำ แม้ว่าจะต้องมีการติดต่อประสานงาน แต่ก็ไม่มีการวาง กฎระเบียบเชิงบริหาร เมื่อคนมีวัตถุประสงค์เหลื่อมซ้อนกัน ความพยายามที่แตกต่างกันของคนเหล่านั้นจะโน้มเข้ามาหลอมรวมกัน เสริมซึ่งกันและกันให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เมืองที่มีการกระทำเพื่อส่วนรวมน้อยและเมืองที่จะทำต้องมีการจัดรูปองค์กรและวางแผนในรายละเอียดไปเสียทุกเรื่อง อาจพลาดที่จะได้รับความคิดริเริ่มและการสร้างสรรค์ของประชาชนที่จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น การทำงานของสถาบันต่าง ๆ อาจได้รับผลไม่ดีเท่าที่ควร เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะชน หรือไม่ได้รับการเสริมแรงจากการกระทำเพื่อส่วนรวมของชุมชน

การประเมินผลโดยชุมชน :

เมื่อมีการสร้างความเป็นส่วนรวมของชุมชน ก็ต้องมีการสร้างซ้ำอีกอย่างสม่ำเสมอ ความสัมพันธ์ของส่วนรวมก็เหมือนความสัมพันธ์ของมนุษย์ สามารถแตกหักได้ถ้าไม่มีการรักษาไว้ด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความสัมพันธ์อาจล่มสลายได้เมื่อการดำเนินงานโครงการสำคัญ ๆ ของชุมชนเสร็จสิ้นลงเพราะวิธีการประเมินผล การวัดผลแบบดั้งเดิมสามารถบ่อนทำลายสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความสำเร็จของโครงการ โดยเฉพาะความเป็นประชาชนที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงาน นอกจากนี้ยังทำให้พลาดโอกาสที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ของประชาชนซึ่งควรเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผล

เราเห็นด้วยกับการประเมินผล เพราะเราต้องการต้องการประสบความสำเร็จ ถ้าไม่มีการประเมิน ความพยายามที่จะพัฒนาชุมชนก็อาจถูกลดคุณค่าลงไปเป็นเพียงชนิดของชัยชนะที่เลวร้ายอย่างหนึ่ง ความอบอุ่น ความรู้สึกสนุกสนานที่ได้ทำงานร่วมกัน เรามักจะขอให้นักวิชาการมาประเมินโครงการด้วยเครื่องมือเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะวัดว่าได้มีผลการดำเนินการทำให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นเท่าไร อย่างไร และมักผลักประเด็นความรู้สึกของประชาชนให้เป็นเรื่องของผลพลอยได้ และลดคุณค่าความรู้สึกเป็นเจ้าของและความรับผิดชอบของประชาชนในการร่วมกันกระทำเพื่อส่วนรวมจากผลสำเร็จของโครงการ

การประสบความสำเร็จในระยะยาวต้องการการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือล้นของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีกระบวนการประเมินผลที่ชุมชนได้รับจากการรวมพลังกันของประชาชนและสิ่งที่ประชาชนได้รับจากการร่วมดำเนินงานอันเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างแท้จริงสำหรับประชาชน นั่นคือวิธีการที่ชุมชนพัฒนาศักยภาพเพื่อปรับตัวอย่างต่อเนื่องและการปรับปรุงต่อไป เราต้องการการแสดงถึงความรับผิดชอบอย่างชัดเจนที่สามารถตรวจสอบได้ของคนในชุมชนโดยส่วนรวม ด้วยการให้คนที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกันได้ประเมินพยานหลักฐานที่แสดงถึงความสำเร็จและเป็นพยานหลักฐ,านที่รวมประสบการณ์ของพวกเขาไว้ด้วย ชุมชนจะประเมินตนเองมากกว่ารอรับรายงานที่ทำโดยสถาบันหรือหน่วยงานอะไรสักแห่งหนึ่ง

กลยุทธ์ในการสร้างสังคม 4 ประการที่นำเสนอในเอกสารนี้ ไม่สามารถดำเนินการให้บังเกิดผลได้เพียงข้ามคืน การประชุมประชาชนเพื่อร่วมกันพิจารณาปัญหาของชุมชนครั้งหนึ่ง ๆ อาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันใดทั้งสิ้นในสังคม แต่กลยุทธ์นี้จะพัฒนาตนเองกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนคุ้นเคย และใช้จนเป็นนิสัยเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในชุมชน แต่กลยุทธ์ก็บอกเราว่า เราไม่ต้องรอนานนับศตวรรษเพื่อให้เพื่อนบ้าน เมือง หรือท้องถิ่นเปลี่ยนวิธีการทำงานของชุมชน เพื่อสร้างบรรทัดฐานของชุมชน เราสามารถที่จะเริ่มทดลองเสียตั้งแต่วันนี้ได้เลยในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในสังคมและการกระจายความรู้สึกที่รุนแรงของความเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน