ผู้นำ องค์กร ชุมชน กับกรมการพัฒนาชุมชน

“ชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการสามารถพึ่งตนเองได้” เป็นเป้าหมายของกรมการพัฒนาชุมชนที่นับแต่นี้เป็นต้นไป ทุกคนในหน่วยงานนี้ต้องจดจำไว้ให้ขึ้นใจ และร่วมจิตร่วมใจกันขับเคลื่อน เสริมสร้าง หนุนส่งให้บังเกิดขึ้นให้ได้ การพูดคุยของคนจำนวนหนึ่งจากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีเรื่องราวน่าสนใจอย่างยิ่งสมควรนำมาเผยแพร่ไว้ใน CD Forum 45 ฉบับนี้ เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างคนในองค์การสำหรับการทำงานพัฒนาชุมชนยุคต่อไป

อย่างไรคือความเข้มแข็ง ?
ชุมชนที่มีศักยภาพ อาจมีตัวชี้วัดได้มากมาย สุดแล้วแต่ใครจะศึกษาค้นคว้าพัฒนาตัวชี้วัดขึ้นมา แต่สิ่งที่คนในเวทีหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน มี 3 ตัว คือ ความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน และความเข้มแข็งในการบริหารจัดการของชุมชน

คุณลักษณะสำคัญของผู้นำชุมชนที่คนในเวทีใฝ่ฝันคือ ผู้นำไม่ว่าจะเป็นผู้นำธรรมชาติ ผู้นำทางการ ผู้นำองค์กร หรือปราชญ์ชาวบ้าน มีภาวะผู้นำ มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับความเป็นผู้นำ มีขีดความสามารถในการนำซึ่งต้องไม่ใช่การนำแบบผู้นำเดี่ยว แบบคุณพ่อใจดี หรือแบบที่พึ่งประจำตำบล แต่ควรเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย แบบผู้เอื้ออำนวย แบบนักส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ผู้นำควรมี ความสามารถในการมองเห็นปัญหาขององค์กรหรือชุมชน วิเคราะห์ได้ ผู้นำควรมีความสามารถในการ ระดมการมีส่วนร่วมของคนและองค์กรชุมชนในการแก้ปัญหาของชุมชน ถ้าได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในการบริหารกิจการของชุมชนก็ยิ่งเก่ง

องค์กรมี 2 ประเภท คือ องค์กรในรูปคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการพัฒนาเด็ก คณะกรรมการชมรมผู้นำ อช. กับองค์กรประเภทกลุ่ม เช่น กลุ่มสตรีอาสาพัฒนา กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มเยาวชน ศูนย์เยาวชนตำบล ฯลฯ การมองคุณลักษณะความเข้มแข็งขององค์กรอาจมีความแตกต่างกันไปตามประเภทกิจกรรมที่องค์กรเกี่ยวข้อง เช่น ความเข้มแข็งขององค์กรสตรี กับความเข้มแข็งของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ย่อมมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน คนในเวทีเห็นว่า องค์ประกอบความเข้มแข็งขององค์กรจะมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่ง คือองค์ประกอบเฉพาะขององค์กรนั้น ๆ อีกส่วนหนึ่ง จะเป็นองค์ประกอบร่วมของทุกองค์กร เช่น ความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม

นอกจากนี้ยังมองอีกว่าจุดหมายปลายทางขององค์กรที่เข้มแข็ง คือ การมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะความเป็นนิติบุคคลจะทำให้การตัดสินใจ การบริหารจัดการ และการดำเนินการใด ๆ ขององค์กรได้รับการรับรองตามกฏหมาย แม้ว่าบางคนจะเห็นว่า ความเป็นนิติบุคคลไม่ใช่เรื่องจำเป็น โดยเฉพาะไม่ควรจะถือเป็นเป้าหมายของนักพัฒนาชุมชนในการส่งเสริมศักยภาพองค์กร เพราะสำหรับกรมการพัฒนาชุมชน ถึงกลุ่มองค์กรจะไม่เป็นนิติบุคคล การตัดสินใจและการกระทำใด ๆ ของกลุ่มก็ได้รับการยอมรับอยู่แล้ว แต่ก็ได้ข้อยุติว่า กลุ่มองค์กรไม่ได้ทำงานกับคนของกรมการพัฒนาชุมชนเท่านั้น ในโลกของความเป็นจริงทุกวันนี้ กลุ่มองค์กรต้องติดต่อดำเนินกิจกรรมกับหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย การเป็นนิติบุคคลทำให้กลุ่มองค์กรมีสถานภาพตามกฏหมายที่จะติดต่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้ด้วยสถานภาพของตนเอง ไม่ต้องอิงอาศัยสถานภาพของหน่วยงานส่งเสริม

บางคนพูดถึงความสามารถของกลุ่มองค์กรที่จะติดต่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณหรือเงินอุดหนุนจากแหล่งทุนต่าง ๆ ได้โดยตรงไม่ต้องผ่านช่องทางของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งบางคนก็อยากให้มองไกลกว่านั้น เพราะถ้าจะส่งเสริมสถานภาพตามกฎหมายโดยมุ่งให้กลุ่มองค์กรสามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งทุนต่าง ๆ ก็เท่ากับว่าเราเห็นดีเห็นงามกับการที่ให้กลุ่มองค์กรคอยพึ่งพาทุน เป็นนิติบุคคลเพื่อให้ได้ทุน คนกลุ่มนี้อยากให้ส่งเสริมกลุ่มองค์กรให้เป็นนิติบุคคล เพราะเป็นทิศทางที่ควรส่งเสริม เพื่อให้กลุ่มองค์กรมีสถานภาพตามกฎหมายที่จะเป็นตัวของตัวเอง และใช้สถานภาพดังกล่าวในการบริหารจัดการรวมทั้งการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มองค์กรนั้นเพื่อการพึ่งตนเอง

คนในเวทีเห็นว่า ชุมชนที่เข้มแข็ง จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ดี กล่าวคือ มีเวทีสาธารณะที่คนในชุมชนทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และตัดสินใจเรื่องราวส่วนรวม มีเครือข่ายองค์กรที่เข้มแข็งซึ่งสามารถใช้เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างกลุ่มผู้นำกับสมาชิกของชุมชน มีกระบวนการบริหารจัดการที่เชื่อมระหว่างข้อมูลของชุมชน แผนของชุมชน และองค์กรของชุมชนเข้าด้วยกัน ชุมชนต้องมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับตนเอง นอกเหนือจากข้อมูล กชช.2ค และจปฐ. ซึ่งออกแบบและจัดเก็บโดยรัฐ ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน จะช่วยให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวของตนเอง สามารถมองเห็นทุนชุมชนของตนเอง สามารถมองออกว่าสถานการณ์ทั้งด้านปัญหาและศักยภาพของชุมชนเป็นอย่างไร และเมื่อผนวกเข้ากับข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องราวภายนอกชุมชน คนในชุมชนก็สามารถตัดสินใจร่วมกันได้ง่ายและแม่นยำยิ่งขึ้น

การจัดทำแผนแม่บทของชุมชน ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือชุมชนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากชุมชนมีจำนวนมากเช่นกัน จึงยังคงเหลือพื้นที่อีกไม่น้อยที่ยังไม่มีการจัดทำแผนแม่บท คนในเวทีเห็นว่า การที่ชุมชนจะมีแผนแม่บทในการพัฒนาชุมชนของตนเองเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน และคนของกรมการพัฒนาชุมชนก็มีทักษะในเรื่องนี้ จึงสมควรที่จะบรรจุไว้ในงานที่กรมฯจะสนับสนุนเพื่อเสริมศักยภาพของชุมชนด้วย

หากชุมชนใดมีองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนนั้นย่อมมีโอกาสที่จะเข้มแข็งไปด้วย ดังนั้น จำนวนองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งในชุมชนหนึ่ง ๆ ยิ่งมีมากเท่าไร ชุมชนก็ย่อมมีโอกาสที่จะเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น และหากองค์กรที่เข้มแข็งเหล่านั้นต่างมุ่งทำประโยชน์ให้กับบรรดาสมาชิก บ่มเพาะความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันรวมทั้งความเอื้ออาทรต่อเรื่องราวส่วนร่วมของชุมชน มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร ชุมชนนั้นย่อมมีความเข้มแข็งเปี่ยมไปด้วยพลังสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ นานาให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ผู้นำ องค์กร เครือข่าย และชุมชน จุดตัดอยู่ที่ไหน ?
การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้นำ องค์กร เครือข่าย และชุมชน ฟังดูแล้วเข้าใจง่าย แต่เมื่ออภิปรายกัน ก็พบว่ามุมมองและความคิดของพวกเรา ปะปน คลุมเครือ มีความสับสน งงงันกันพอสมควร กว่าจะเข้าใจชัดเจนตรงกันก็เหงื่อตก ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องมาแยกแยะ ในเมื่อเราต้องการบูรณาการ ก็ขออธิบายว่า การที่เรามองทุกเรื่องรวม ๆ กันไปนาน ๆ เข้า เราก็ลืมว่าเราทำอะไรกับส่วนย่อย ๆ บ้าง เช่นงานพัฒนาผู้นำ หลายเรื่องที่เราทำเราเข้าใจว่าเรากำลังพัฒนาผู้นำ แต่เราก็ไม่สนใจที่จะพัฒนาคุณลักษณะและภาวะผู้นำของคนสักเท่าไร พอเราไปพัฒนาองค์กร เราก็ไปสนใจผู้นำองค์กร โดยไม่สนใจสมาชิกองค์กร เมื่อเราพัฒนาเครือข่ายองค์กร เราก็กลับไปสนใจที่องค์กรแกนนำเครือข่าย แล้วละเลยคุณลักษณะของเครือข่ายรวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสมาชิกของเครือข่าย คนในเวทีจึงเห็นพ้องกันว่า ก่อนที่จะคิดว่า กรมการพัฒนาชุมชนจะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้นำ องค์กร เครือข่าย และชุมชน อย่างไร ควรจะต้องมาทำความเข้าใจถึงเป้าหมายของการส่งเสริมและพัฒนาแต่ละเรื่องให้ชัดเจนเสียก่อน ผลการอภิปรายสรุปได้ดังนี้

ผู้นำ
องค์กร
เครือข่าย
ชุมชน

ลักษณะเฉพาะ
บุคคล ที่มีฐานะเป็นผู้นำ
การรวมกันของบุคคล อาจเป็นการรวมกันของผู้นำ โดยไม่มีสมาชิก เช่น กพด. หรือมีสมาชิก เช่น กลุ่มออมทรัพย์ฯ
การรวมกันขององค์กร
การรวมกันของบุคคล องค์กร เครือข่าย และคนที่อยู่อาศัย ในขอบเขตพื้นที่หนึ่ง ๆ ระดับพื้นฐานที่สุด คือ หมู่บ้าน

เนื้อหาในการ ส่งเสริม และพัฒนา
บุคลิกภาพ ภาวะผู้นำ คุณลักษณะของบุคคล ในเรื่องต่าง ๆ
ความสามารถ ในการบริหารจัดการ และการทำงานเป็นกลุ่ม รูปแบบโครงสร้างและ ระบบงาน ของกลุ่มองค์กร ที่เหมาะสมกับ กิจกรรมกลุ่มองค์กรนั้น
ความสามารถ ในการบริหารจัดการ ในลักษณะเครือข่าย และระบบการติดต่อสื่อสาร
ภายในเครือข่าย รูปแบบโครงสร้างและ ระบบงานของเครือข่าย
ระบบการบริหารจัดการ ของชุมชน ได้แก่ ข้อมูลชุมชน แผนของชุมชน เวทีสาธารณะของชุมชน กระบวนการเรียนรู้และ ตัดสินใจเรื่องราวของชุมชน การดำเนินงาน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหา ของชุมชน

เป้าหมาย
ผู้นำเข้มแข็ง สามารถไปช่วยให้องค์กร
และชุมชน มีความเข้มแข็งขึ้นมาได้
องค์กรเข้มแข็ง เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก และชุมชน
เครือข่ายเข้มแข็ง ช่วยทำให้องค์กรเข้มแข็ง ช่วยพัฒนาและแก้ปัญหา ให้กับองค์กรสมาชิก และชุมชน
ชุมชนเข้มแข็ง ช่วยพัฒนาองค์กร และผู้นำให้เข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการกิจการ ต่าง ๆ ของชุมชน ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้

การแยกแยะลักษณะเฉพาะ เนื้อหาของการส่งเสริมและพัฒนา รวมทั้งเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาออกมาให้ชัดเจนเช่นนี้ ทำให้มองเห็นได้ว่า การทำงานกับหน่วยในการพัฒนาทั้ง 4 กลุ่มต้องทำควบคู่กันไป และสามารถเอื้อประโยชน์ให้ต่อกันและกัน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือ ความเข้มแข็งและพึงตนเองได้ของชุมชน

ผดด.อสพ.=ผู้นำชุมชน ?
เมื่อนำกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีอยู่เดิมมาจับวาง พบว่า ลูกค้าบางกลุ่มไม่สามารถจับใส่ลงไปในหน่วยการพัฒนาทั้ง 4 กลุ่มได้ เช่น ผู้ดูแลเด็ก และอาสาพัฒนา ทั้ง 2 ประเภทนี้เป็นปัจเจกบุคคล แต่ไม่ใช่ผู้นำ เวลาที่วิเคราะห์ตำแหน่งแห่งที่ของผู้ดูแลเด็ก และอาสาพัฒนา นั้น เรารู้สึกได้ว่า ผู้ดูแลเด็ก มีความสัมพันธ์ในงานพัฒนาชุมชนที่ซับซ้อนมากกว่าอาสาพัฒนา แต่การตัดสินใจเกี่ยวกับอาสาพัฒนาต้องใช้เวลาอภิปรายกันมากกว่าผู้ดูแลเด็ก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า เราถ่ายโอนค่าใช้จ่ายในส่วนผู้ดูแลเด็กไปให้กับองค์กรท้องถิ่นหมดแล้ว แต่อาสาพัฒนายังสามารถตั้งงบประมาณมาใช้ในการทำงานได้อยู่อีกเพราะมีมติ ครม.รองรับ จึงเห็นได้ว่า งบประมาณก็เป็นปัจจัยแทรกซ้อนอีกตัวหนึ่งที่ทำให้การทำงานพัฒนาชุมชนสะเปะสะปะ ขาดทิศทางที่ชัดเจน

ตามปรัชญาและหลักการพัฒนาชุมชน ผู้ดูแลเด็ก ไม่ใช่ลูกจ้าง พนักงาน เจ้าหน้าที่ ของกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ดูแลเด็ก เป็น ตัวละครตัวหนึ่งในงานพัฒนาเด็ก ที่คณะกรรมการพัฒนาเด็ก หรือ กพด.เป็นผู้สรรหา คัดเลือก และกำกับดูแล เวลาที่กรมการพัฒนาชุมชนไม่มีงบประมาณเป็นค่าตอบแทนผู้ดูแลเด็ก กพด.เป็นคนที่ออกแรงระดมหาทุนรอนมาจ่ายค่าตอนแทน เมื่อกรมฯสามารถจัดสรรงบประมาณช่วยเป็นค่าตอบแทน ผดด. เท่ากับกรมฯ กำลังช่วยไม่ให้ กพด.ต้องเหน็ดเหนื่อยจนเกินไปในการระดมทุน

แต่เนื่องจากตามระเบียบงบประมาณนั้น ต้องถือว่า คนที่รับเงินค่าตอบแทนจากกรมฯ ก็คือคนของกรมฯ เพื่อให้งานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นมีประสิทธิภาพ เราก็เลย”ตี๊ต่าง”เอาว่า ผู้ดูแลเด็ก เป็นคนของกรมฯ เป็นอาสาสมัครในงานพัฒนาเด็ก แต่คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้นำด้านการพัฒนาเด็ก เพราะเราไม่เคยวางเขาไว้ในจุดนั้น ดังนั้นในวันนี้ เราจึงไม่อาจวางเขาไว้ในกลุ่มผู้นำ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเพิ่มทักษะการดูแลเด็กให้กับเขาได้ เนื่องจากว่า มองดูอย่างไร ให้เหตุผล อย่างไรก็ไม่สมเหตุสมผล คนในเวทีจึงหาทางออกให้กับเรื่องนี้ โดยเอางานเพิ่มพูนทักษะผู้ดูแลเด็กไปวางไว้ในกิจกรรมของคณะกรรมการพัฒนาเด็กแทน ติดป้ายไว้ให้เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาเด็กพิจารณาดำเนินการ

มีผู้ท้วงติงขึ้นหลายคน ว่า อาสาพัฒนาจะถือว่าผู้นำชุมชนได้อย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า ระยะหลัง ๆ ได้ให้อำเภอเป็นผู้สรรหาอาสาพัฒนา จึงแน่ใจระดับหนึ่งว่า อาสาพัฒนาเป็นลูกหลานคนในชุมชน เมื่อมารับการฝึกอบรมและทำงานอาสาพัฒนาครบ 1 ปี ก็น่าจะกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิด พร้อมกับใช้ความรู้ด้านการพัฒนาชุมชนในการดำเนินชีวิตต่อไป แต่ก็ยังถูกโต้แย้งถึงความเป็นผู้นำชุมชนและภารกิจหลักของกรมการพัฒนาชุมชนอยู่ดี ที่ประชุมหาทางออกให้ว่า ถ้าจะให้งานของกรมฯ ชัดเจนโดยจะดำเนินงานอาสาพัฒนาต่อ ก็ควรเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานอาสาพัฒนาชนบทเสียใหม่ โดยเชื่อมไปให้ถึงผู้นำชุมชนให้ได้ อาจเป็นการคัดเลือกผู้นำในชุมชนมาฝึกอบรมเป็นอาสาพัฒนาแล้วส่งกลับไปทำงานในชุมชนของเขาเอง ถ้าไม่ใช่ผู้นำชุมชน แต่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในชุมชน ควรให้กองการเจ้าหน้าที่รับผิดชอบแทนที่จะให้กลุ่มงานพัฒนาผู้นำรับผิดชอบ เพราะแบบหลัง อาสาพัฒนามีฐานะเทียบได้กับพัฒนากรไม่ใช่ผู้นำชุมชน

ยังมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอาสาพัฒนาที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ การอ้างว่ากรมฯจำเป็นต้องรับอาสาพัฒนาเพื่อทดแทนการขาดแคลนพัฒนากร ไม่น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอสำหรับอนาคต เพราะกรมฯควรคิดถึงการถ่ายโอนบทบาทของพัฒนากรให้กับชุมชนและท้องถิ่น มากกว่าจะรักษาไว้ตลอดกาล เวทีเสนอว่า ถ้าให้อาสาพัฒนากลับไปทำงานที่บ้านเกิดระหว่างการเป็นอาสาพัฒนา พร้อมกับทดลองถอนกำลังพัฒนากรออกจากตำบลที่มีอาสาพัฒนา และมอบหมายหน้าที่พัฒนากรให้อาสาพัฒนาทำแทน แต่ถ้าจะทำเหมือนเดิมทุกอย่าง กล่าวคือ คัดเลือกมา ฝึกอบรมให้ แล้วส่งไปที่ไหนก็ไม่รู้กระจายไปทั่ว คนในเวทีเห็นว่า ควรยุติการดำเนินงานอาสาพัฒนาได้แล้ว เพราะใช้งบประมาณมากและไม่ส่งผลต่อความสำเร็จตามภารกิจโดยรวมของกรมการพัฒนาชุมชน

การดำเนินงานของชุมชนหรือของกรมฯ ?
การแยกแยะการดำเนินงานระหว่างตัวแสดงในงานพัฒนาชุมชนทำให้เกิดความคิดใหม่ ๆ และเมื่อผนวกเข้ากับหลักการเสริมสร้างความเข้มแข็งที่ว่า เรื่องของใคร คนนั้นตัดสินใจ ด้วยแล้ว เรามองเห็นความผิดพลาดที่เคยทำมามากมาย และสามารถตัดใจละวางงานได้อีกหลายอย่าง

การเริ่มคิดว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานระดับกองมีกิจกรรมอะไรที่ทำเอาไว้บ้าง ทำให้มีกิจกรรมถูกแยกแยะออกมามากมาย เมื่อจัดแบ่งกลุ่มใหม่ตามตัวแสดง ก็พบว่า การดำเนินงานของกรมฯส่วนใหญ่ คือ การทำหนังสือสั่งการให้พื้นที่ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่นนั้นเช่นนี้ โดยที่พื้นที่ไม่มีโอกาสตัดสินใจ ทำให้งานในพื้นที่ทั้งหมดเป็นการวิ่งตามกรมฯ การที่คนเราต้องทำอะไรไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้คิด ไม่มีโอกาสคิด หรือไม่ทันคิด นานวันเข้า คน ๆ นั้นก็จะเป็นคนสมองเสื่อม ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่เชื่อในศักดิ์ศรีและคุณค่าของตนเอง ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งที่นักพัฒนาชุมชนจะมีคุณลักษณะเช่นนี้ ดังนั้นคนในเวทีจึงวางงานสัพเพเหระไว้ในฐานะเมนูกิจกรรมให้กลุ่มองค์กรและคนในพื้นที่ตัดสินใจกันเองว่าจะทำหรือไม่ และจะทำเมื่อไร แบบไหน พร้อมกับให้ข้อคิดว่า “กรมฯควรปรับวิธีการคิด และวิธีการสั่งการเสียใหม่ ที่ผ่านมาคนในพื้นที่รู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ทำโดยไม่มีโอกาสหาเหตุผล กรมฯควรใช้วิธีการหรือแนวทางที่จะให้เขาคิดเองว่าจะต้องทำอะไร มากน้อยแค่ไหน”

การจัดการชุมชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ยาเสพติด ฯลฯ กิจกรรมในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ ล้วนเป็นเรื่องการบริหารจัดการของชุมชน เราเสนอแนะกิจกรรมได้ แต่การดำเนินงานต้องยอมรับการตัดสินใจของชุมชน เขาจะทำหรือไม่ทำก็น่าจะยอมรับได้

เมื่ออะไร ๆ ก็เป็นเรื่องของชุมชน แล้วนักวิชาการในกรม จะทำอะไร คนในเวทีวิเคราะห์กันว่า นักวิชาการและหน่วยงานในส่วนกลางควรทำงานประเภท สำรวจข้อมูลผู้นำ องค์กร เครือข่าย จัดทำทะเบียน กำหนดแนวทางทิศทางการทำงาน กำหนดเป้าหมายรวม วิเคราะห์สถานการณ์ วิจัยและพัฒนารูปแบบและวิธีการทำงาน ประเมินนโยบาย ประสานนโยบาย ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ระดมทรัพยากรสนับสนุนการทำงานของพื้นที่ จัดทำมาตรฐานกิจกรรม จัดการประชุมแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างผู้นำ องค์กร เครือข่าย และชุมชนในระดับประเทศ จัดงานแสดงผลงานประจำปีของชุมชน ฯลฯ ทั้งนี้ต้องให้หน่วยงานระดับเขต และระดับพื้นที่มีโอกาสออกแบบการทำงานของตัวเองได้ด้วย เช่น ให้เขตสามารถปรับแนวทางและหลักสูตร หรือกำหนดหลักสูตรเอง ให้จังหวัดอำเภอสามารถปรับแนวทาง ดำเนินการ กำหนดเป้าหมาย และรูปแบบกิจกรรมได้เอง เป็นต้น

ถ้ามองงานพัฒนาองค์กร รูปแบบการจัดการกลุ่มมีมากมาย นักวิชาการระดับกรมฯ น่าจะลองศึกษาค้นคว้าดูบ้างว่ารูปแบบการจัดการกลุ่มมีกี่ประเภท ประเภทไหนเหมาะสมกับกิจกรรมไหน และนำไปเสนอให้ชุมชนเลือกว่าแบบไหนเหมาะสมกับชุมชนของตนเอง วิจัยและหารูปแบบการจัดการกลุ่ม ช่วยวางระบบให้กับกลุ่มองค์กร และคิดต่อว่าถ้าจำเป็นต้องใช้งบประมาณ แต่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้ให้เลย เราจะเอางบประมาณจากที่ไหนมาดำเนินงาน

การศึกษาชุมชน และการประเมินการพัฒนาของชุมชน ควรให้เป็นงานของชุมชน โดยเจ้าหน้าที่อาจทำร่วมกับชุมชนเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน ในการนี้หมายความรวมไปถึงการจัดทำมาตรฐานกิจกรรมพัฒนา ชุมชน ควรส่งเสริมให้เป็นการพัฒนาเกณฑ์ชี้วัดโดยชุมชน ไม่ใช่พัฒนาขึ้นมาเองจากความคิดของนักวิชาการ

ต้องเปลี่ยนอีกเยอะ
คุยกันแล้วก็รู้ว่า ในอนาคตไม่ใช่เปลี่ยนแต่โครงสร้าง ระบบงาน และกิจกรรม เท่านั้น ความคิดและวิธีการทำงานของนักพัฒนาชุมชนทุกระดับตั้งแต่พื้นที่จนถึงกรมฯ ต่างต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันทั้งสิ้น เอาแค่ยืนหยัดกับความเชื่อที่ว่า “คนทุกคนมีศักยภาพสามารถพัฒนาตนเองได้ถ้ามีโอกาส คนทุกคนมีศักดิ์ศรี มีสิทธิ์ที่จะเลือกอนาคตของตัวเอง” ก็ยากแล้วว่าจะยืนหยัดได้ตลอด ชาวพัฒนาชุมชนคงไม่ท้อที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนให้งานพัฒนาศักยภาพชุมชนบรรลุเป้าหมายให้ได้ ใช่ไหม.